ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังทำ Sales Planning หรือการวางแผนการขาย นี่คือบทความที่คุณควรติดตามครับ
ผมจะมาอธิบายขั้นตอนง่ายๆที่คุณสามารถไปประยุกต์ได้
ขั้นตอนที่ว่านี้เหมือนเป็นพิมพ์เขียวที่จะช่วยให้แผนของคุณจับต้องได้และมีหลักการมากขึ้น
สุดท้ายยอดขายของคุณจะมา
และที่สำคัญคือมาในแบบที่คุณตอบได้ด้วยว่ามาจากตรงไหนอย่างไร
มาดูขั้นตอนที่ว่านั้นด้วยกันเลยครับ
1. ที่มายอดขาย
แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของ Sales Planning คือการวางแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย
ดังนั้นผมแนะนำให้เริ่มจากตรงนี้ก่อน กล่าวคือ “กำหนดที่มายอดขาย”
นั่นแปลว่าคุณจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าจะไปเอายอดมาจากตรงไหน
เหมือนกับคุณกำลังไปขุดล่าสมบัติ ก่อนไปคุณต้องมีลายแทงที่ชัดเจนก่อน
คุณจะได้รู้ว่าต้องเดินทางไปที่ไหนอย่างไร
ที่มายอดขายทั้งหมดมีดังนี้
1) ยอดขายจากลูกค้าเก่า
อันนี้คือต้องพยายามไม่ให้ลูกค้าเก่าหลุด
บางคนได้หน้าลืมหลัง ลูกค้าใหม่หาได้ แต่ลูกค้าเก่าหลุดตลอด
ดังนั้นที่มายอดขายอันแรกอาจจะไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการทำให้ลูกค้าเดิมซื้อซ้ำต่อเนื่องและไม่มีปัญหาอะไร
2) ลูกค้าใหม่
แน่นอนครับว่านี่เป็นแหล่งที่มายอดขายอีกอันหนึ่งซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของทุกธุรกิจ
เราจะรอพึ่งบุญเก่าจากลูกค้าเดิมตลอดเวลาไม่ได้เด็ดขาด
ยิ่งถ้าธุรกิจของคุณไม่มีการซื้อซ้ำ การหาลูกค้าใหม่มาเติมถือเป็นเบสิคสำคัญ
3) ขายเพิ่มจากลูกค้าเดิม
อันนี้ถือเป็นการต่อยอดจากข้อ 1
กล่าวคือทำให้ลูกค้าแฮปปี้มีความสุขกับเรา และมองหาโอกาสในการขายเพิ่มให้กับลูกค้าเดิม
ดังนั้น Sales Planning ของคุณต้องเริ่มต้นที่นี่ก่อนครับ
คุณต้องวางแผนก่อนว่าจะเอายอดมาจากอันไหนระหว่างหนึ่งในสามอันนี้หรือทั้งหมดเลย
เพราะสุดท้ายวิธีการที่คุณจะเอายอดมาจากแต่ละแหล่งก็ไม่เหมือนกัน
ดังนั้นนี่คือสิ่งที่คุณควรตอบได้เป็นลำดับต้นๆเสมอ
2. วัตถุประสงค์การขาย
กล่าวคือคุณจะเน้นหรือโฟกัสที่เรื่องไหนเป็นพิเศษ
เพื่อให้งานของคุณง่ายขึ้น ผมขอแนะนำว่าจุดประสงค์การขายมีอะไรบ้าง
1) พื้นที่ขาย
คุณอาจจะต้องโฟกัสเรื่องพื้นที่ด้วย
เช่นขายแต่ในกรุงเทพหรือเน้นต่างจังหวัด
ถ้าเป็นกรุงเทพอย่างเดียวต้องเน้นเป็นเขตหรือเป็นตึกเลยหรือไม่
เรื่องการโฟกัสพื้นที่ขายจะช่วยได้เยอะโดยเฉพาะนักขายที่ต้องเดินทางออกไปหาลูกค้า
เพราะการวางแผนเรื่องนี้นั้นจะสามารถช่วยคุณเรื่องการจัดเวลาการเข้าพบลูกค้าได้ด้วย
การกรุ๊ปลูกค้าตามพื้นที่อาจจะทำให้หาลูกค้าได้วันหนึ่งเป็นสิบรายเลยก็เป็นได้
2) สินค้า
แน่นอนว่าถ้าสิ่งที่คุณขายมีแค่รายการเดียวก็คงข้ามข้อนี้ไปได้เลย
แต่ถ้าสินค้าคุณมีหลากหลายรายการ Sales Planning ของคุณต้องตอบได้ว่าคุณจะเน้นที่สินค้าไหน
เช่นเน้นสินค้า A เพราะตอนนี้สต็อคค้างเยอะ
เน้นสินค้า B เพราะเป็นสินค้าใหม่ที่มีกำไรสูง
หรือเน้นสินค้า C เพราะคู่แข่งสู้เราในแง่การบริการไม่ได้เป็นต้น
3) กลุ่มลูกค้า
อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนเป็นลูกค้าเราได้
ดังนั้นใน Sales Planning ของคุณต้องตอบได้ว่าใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
เรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องที่มายอดขายจากหัวข้อก่อนหน้านี้
คุณต้องตอบได้ว่าจะโฟกัสที่ลูกค้ากลุ่มไหน
เช่นเอาลูกค้าเก่ามาขายเพิ่มหรือเอาลูกค้าใหม่
ต้องเน้นไปเลยหรือไม่ว่าเอาลูกค้าจากอุตสาหกรรมไหนเป็นหลัก
อาจต้องเน้นว่าเจ้าเล็กเจ้าใหญ่เช่นบริษัทมหาชนที่มีกำลังซื้อไปเลยหรือไม่
ยิ่งกลุ่มลูกค้าของคุณชัดเท่าไหร่ Sales Planning ก็จะแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น
4) กำลังคน
วัตถุประสงค์ทางการขายข้อสุดท้ายที่คุณต้องโฟกัสคือ “กำลังคน” หรือนักขายในทีมของเรานั่นเอง
คุณต้องโฟกัสหลักๆสองเรื่องคือ
เรื่องแรกคือเชิงปริมาณ กล่าวคือคุณต้องการมีทีมขายกี่คน จะลดหรือจะเพิ่มและเพราะอะไร
เรื่องที่สองคือเชิงคุณภาพ กล่าวคือคุณต้องวิเคราะห์จุดอ่อนเชิงทักษะ
พวกเค้ามีปัญหาเรื่องความรู้ผลิตภัณฑ์หรือไม่
พวกเค้ามีปัญหาเรื่องวินัยหรือไม่
พวกเค้ายังอ่าน sales report และใช้ประโยชน์ไม่เป็นหรือไม่
พวกเค้าไม่มีทักษะในการขายของแพงหรือไม่
และต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเค้ามีทักษะเหล่านี้ที่ดีขึ้น
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องตอบได้ใน Sales Planning
3. แผนกิจกรรมการขายที่จับต้องและวัดผลได้
สุดท้าย Sales Planning ของคุณจะไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ถ้าขาดข้อสุดท้ายนี้
กล่าวคือเอาข้อ 1 & 2 ที่อธิบายก่อนหน้านี้มาสรุปเป็นแผนกิจกรรมการขาย
พูดง่ายๆคือคุณต้องตอบได้ว่าอะไรคือสิ่งที่นักขายต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดตามที่ plan ไว้
และที่สำคัญที่สุดคือแผนกิจกรรมการขายที่ว่านี้จำเป็นต้อง “จับต้องและวัดผลได้”
เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างจริงให้ดูเลย
เช่นคุณเริ่มโดยวิเคราะห์ที่มายอดขายและฟันธงว่าจะหายอดจากลูกค้าใหม่
สาเหตุเป็นเพราะลูกค้าของคุณเริ่มวนในอ่าง ขายซ้ำไปซ้ำมาแต่กลุ่มเดิมๆ
ในขณะที่คุณเห็นโอกาสจากลูกค้ามุ่งหวังใหม่ๆอีกมากมายในตลาด
ส่วนวัตถุประสงค์การขายคุณอยากเน้นกลุ่มลูกค้าโรงงานกระดาษที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแถวบางนา
เพราะลูกค้าเหล่านี้มีความต้องการตรงกับสินค้าใหม่ที่คุณเพิ่งเอามาวางตลาด
และที่สำคัญคือเจ้าตลาดปัจจุบันยังมีบริการหลังการขายที่สู้คุณไม่ได้
คุณมั่นใจว่ากลุ่มนี้น่าจะตอบโจทย์คุณ
สรุปกิจกรรมการขายที่จับต้องและวัดผลได้คือ
-ให้ซื้อรายชื่อลูกค้าทั้งหมดจากนิคมอุตสาหกรรมหลัก 3 แห่งในเขตบางนา
-คัดกรองเอาเฉพาะโรงงานกระดาษอย่างเดียว
-แบ่งรายชื่อให้นักขายอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าคนละ 20 ราย
-มีการฝึกอบรมเรื่องสคริปต์การทำนัดเพื่อไปเจอลูกค้าใหม่เหล่านี้
-ซ้อมเรื่องการนำเสนอใหม่โดยเน้นที่การบริการหลังการขายโดยเปรียบเทียบให้เห็นกับบริการก่อนหน้าที่ลูกค้าได้
-มีการเอาสินค้าตัวอย่างจริงไปให้ลูกค้าลองใช้ทุกราย
-ทั้งหมดนี้ให้ทำให้เสร็จสิ้นภายใน 3 สัปดาห์
-รายไหนมีความสนใจค่อนข้างเกิน 50% ต้องให้ผู้จัดการฝ่ายขายเข้าสังเกตการณ์ด้วยทันทีในการเข้าเยี่ยมเพื่อติดตามผล
-คัดกรองลูกค้าไม่ต่ำกว่าคนละ 3 รายเพื่อเชิญเข้ามาเยี่ยมที่โรงงานของเราเพื่อสร้างความมั่นใจ
นี่คือตัวอย่างของกิจกรรมการขายที่คุณต้องสรุปให้ได้ใน Sales Planning
สิ่งหนึ่งที่คุณเห็นได้อย่างชัดเจนคือแผนนี้มีรายละเอียดที่จับต้องได้
มีความเฉพาะเจาะจงในแง่กิจกรรมการขาย ทราบทันทีว่าเวลาไปหาลูกค้าต้องคุยเรื่องอะไรหรือทำกิจกรรมอะไรเพื่อให้การขายคืบหน้า
และที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือแผนนี้วัดผลได้
อย่าลืมว่าถ้าแผนไหนวัดผลไม่ได้มีโอกาสล้มเหลวแทบจะทุกแผน
และนี่คือขั้นตอนสุดท้ายของ Sales Planning ก่อนที่คุณจะเอาแผนที่ว่านี้ไปลงมือปฏิบัติ
บทสรุป
การทำ Sales Planning ไม่ได้เป็นเรื่องยากจนเกินไปโดยเฉพาะถ้าคุณทราบลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน
เพื่อให้งานของคุณง่ายขึ้น ขอให้ลองวางแผนตามขั้นตอนที่ว่านี้
ขั้นตอนแรก วิเคราะห์ก่อนว่าจะเอายอดมาจากที่ไหน
ขั้นตอนที่สอง ไล่ดูกรอบวัตถุประสงค์การขายและวิเคราะห์ก่อนเริ่มขายว่าจะเน้นเรื่องใดในแต่ละวัตถุประสงค์
ขั้นตอนที่สาม เขียนแผนกิจกรรมการขายที่เฉพาะเจาะจงและวัดผลได้
สุดท้าย Sales Planning ที่ว่าจะช่วยทำให้คุณมีหางเสือมากกว่าเดิมแน่นอนครับ